Skip to main content

สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ

ประวัติความเป็นมา

ความเป็นมา

                สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ (National Labor Development Advisory Council) จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 47 (ปร47) ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวกับแรงงาน ต่อมานายกรัฐมนตรี(นายธานินทร์ กรัยวิเชียร) ได้อาศัยอำนาจดังกล่าวออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 56/2520 จัดตั้งสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2520 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 157/2521 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2521 แต่งตั้งสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติชุดแรกขึ้น

                แนวความคิดในการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่จากการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่ประกอบกับข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในขณะนั้นนำมาประมวลสรุปได้ว่าภายหลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา ได้มีการตื่นตัวในเรื่องประชาธิปไตยอย่างมาก โดยกลุ่มนิสิตนักศึกษา และปัญญาชนในมหาวิทยาลัยเป็นผู้นำ และมีความคิดว่าประเทศชาติจะเป็นประชาธิปไตยได้จริง ๆ นั้น ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ต้องมีประชาธิปไตยทางด้านพื้นฐานเศรษฐกิจด้วย และการมีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องยกฐานะทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น จึงมีความเรียกร้องให้รัฐจัดสวัสดิการให้กับประชาชนให้มากที่สุด เช่น การบริการทางด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล และที่สำคัญคือ การให้ความช่วยเหลือผู้ไม่มีรายได้ เนื่องจากไม่มีงานทำ แต่รัฐบาลเองไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งทางด้านกรรมกรผู้ใช้แรงงาน ขณะนั้นได้รับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 12 บาท ทำให้มีการเรียกร้องค่าแรงงานให้ยุติธรรมมากขึ้น และสภาพการจ้างงานที่ดีขึ้น

                จากสถานการณ์ในช่วงเวลาระหว่าง ปี พ.ศ. 2516-2518 มีการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มต่าง ๆ มากที่สุด สำหรับกลุ่มแรงงานนอกจากมีการนัดหยุดงานแล้ว ยังมีการประท้วงต่อนายจ้างและรัฐบาลหลายครั้ง ที่สำคัญคือ การประท้วงของลูกจ้างในอุตสาหกรรมสิ่งทอประมาณ 2,000 คน เมื่อวันที่ 6-13 มิถุนายน 2517 การประท้วงของครูโรงเรียนราษฎร์ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2517 การประท้วงของลูกจ้างระหว่างวันที่ 2-7 มิถุนายน 2518 การพิพาทแรงงานกรณีบริษัทสแตนดาร์ดการ์เมนท์ กรณีโรงงานกระเบื้องเคลือบสีที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีการปะทะกันจนเสียชีวิตและบาดเจ็บ จนกระทั่งมีการปฏิวัติรัฐประหาร เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่เรียกตนเองว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน”

                จากสถานการณ์ข้างต้น องค์กรแรงงานลูกจ้างต่าง ๆ ถูกล้มเลิกไปสิ้น ทำให้คณะปฏิรูปตระหนักว่าปัญหาแรงงานต่าง ๆ น่าจักได้มีการแก้ไขจากองค์กรระดับชาติมากกว่าการประท้วงพร่ำเพรื่อ ดังนั้นการบริหารแรงงาน ต้องได้รับความร่วมมือจากฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาล ซึ่งระบบไตรภาคีนี้จะเปิดโอกาสให้ทั้ง 3 ฝ่าย ได้ร่วมพิจารณาให้ข้อเสนอแนะนโยบาย แนวทาง และมาตรการแก้ไขปัญหา อีกทั้งเป็นตัวเชื่อมโยงประสานกับหน่วยงานด้านแรงงาน จึงมีคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 47 (ปร.47) เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ให้จัดตั้ง สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติขึ้น ที่มีทั้งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล เพื่อส่งเสริมการบริหารแรงงานให้มีประสิทธิภาพ อันจะยังให้เกิดประโยชน์สุข และเป็นธรรมทั้งแก่ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง ตลอดจนถึงผู้ใช้แรงงานทั้งมวล

                สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ เป็นองค์กรไตรภาคี ประกอบด้วยคณะกรรมการจำนวน 20 คน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้แต่งตั้ง โดยปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้เสนอกรรมการผู้แทนฝ่ายรัฐบาลจากข้าราชการประจำ 5 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มิใช่ข้าราชการประจำอีก 5 คน สำหรับกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละ 5 คน ให้สมาคมนายจ้างและสหภาพแรงงานทั่วราชอาณาจักรเป็นผู้เลือกตั้ง กรรมการสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ อยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 2 ปี และจะอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 4 ปี

          ปัจจุบันอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ได้โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่ และกิจการบริหารบางส่วนของกระทรวงมหาดไทยไปเป็นของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2536 และเป็นอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545

476
TOP