Skip to main content

สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ

รมว.แรงงาน เปิดงานวิชาการเพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์ แนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาแรงงานเพื่อก้าวผ่านสู่เศรษฐกิจแห่งอนาคต

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดและปาฐกถาพิเศษการสัมมนาทางวิชาการเพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์ เรื่อง “แนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาแรงงานเพื่อก้าวผ่านสู่เศรษฐกิจแห่งอนาคต กรณีศึกษา : แรงงานในภาคการผลิต ภาคบริการท่องเที่ยว ภาคเกษตรและแรงงานสูงอายุ” ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ

วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๓๐ น. หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดและปาฐกถาพิเศษการสัมมนาทางวิชาการเพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์ เรื่อง “แนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาแรงานเพื่อก้าวผ่านสู่เศรษฐกิจแห่งอนาคต กรณีศึกษา : แรงงานในภาคการผลิต ภาคบริการท่องเที่ยว ภาคเกษตรและแรงงานสูงอายุ” ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ โดยกล่าวว่า ขณะนี้เราอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงปัจจัยทางสังคมและเทคโนโลยี ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วและทันสมัย เทคโนโลยี Fintech ในภาคการเงินและการธนาคาร รวมถึงเทคโนโลยีในรูปแบบอื่นๆ ที่จะถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้น เพื่อตอบสนองรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือที่เรียกว่า Al เข้ามาแทนแรงงานมนุษย์มากขึ้นในเกือบทุกอุตสาหกรรมและบริการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต การขนส่งสินค้า การบริหารจัดการ ไปจนถึงด้านการแพทย์ สำหรับภาคอุตสาหกรรมก็มีการนำหุ่นยนต์มาช่วยพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าให้มีมาตรฐาน ลดต้นทุน หรือช่วยในกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์

เมื่อเทคโนโลยีและ AI ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตแล้ว ย่อมมีผลต่อการทำงานของมนุษย์ การจ้างงาน การใช้กำลังแรงงาน โดยหลายฝ่ายกังวลว่าแรงงานในหลายๆ อาชีพจะหายไป โดยจากรายงานของ OECD ประเมินว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า 14% ของแรงงานมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนด้วยระบบอัตโนมัติ และอีก 30% เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทักษะที่ใช้ในการทำงานอย่างมาก นอกจากนี้ งานศึกษาของ World Bank เรื่อง “ในมิติความเสี่ยงด้านหุ่นยนต์แย่งงานคน” พบว่าระยะหลังเริ่มเห็นแนวโน้มการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Markets โดยวัดจากจำนวนสต็อกของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ซึ่งไทยติดอยู่ในอันดับตันๆ ในกลุ่มนี้ และคาดว่าไทยจะนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้เพิ่มขึ้นเพราะคุ้มค่าต่อการลงทุนหากดูจากปัจจัย ด้านค่าจ้างแรงงาน การขาดแคลนแรงงาน ราคาหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และระยะเวลาการใช้งาน นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังก่อให้เกิดความท้าทายครั้งใหญ่ขึ้นในโลกของการทำงาน ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเนื่องจากคนทำงาน platform ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลักษณะของ sharing economy เช่น บริการเรียกรถ taxi ออนไลน์ บริการรับส่งสินค้า หรือแม้กระทั่งการที่คนทั่วไปสามารถให้เช่าบ้านหรือห้องของตนเองผ่าน platform ออนไลน์ได้ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้การดำเนินงานด้านแรงงานจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่น และก้าวทันต่อบริบทความเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้นของการประกันสังคม ความปลอดภัยในการทำงานและสวัสดิการแรงงาน ไปจนถึงการพัฒนาทักษะ ที่คนทำงานจะต้องมีทัศนคติที่พร้อมรองรับต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่ ตลอดเวลา

TOP