Skip to main content

สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ

รมว.แรงงาน ให้การต้อนรับคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ ชุดที่ ๑๘

วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๔.๓๐ น. หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล  โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสุทธิ  สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับนายถาวร ชลัษเฐียร ประธานกรรมการสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ ชุดที่ ๑๘ และคณะ ที่มาเข้าเยี่ยมคารวะและแนะนำตัว ณ ห้องศูนย์บัญชาการ ชั้น ๕ อาคารกระทรวงแรงงาน โดย หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล ได้กล่าวขอบคุณคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติฯ ที่ให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกระทรวงแรงงานเป็นอย่างดี กระทรวงแรงงานมีความมุ่งมั่นในการทำงานให้แรงงานมีความมั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และนโยบายรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาแล้ว โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้ ๑) การพัฒนาคุณภาพวิชาชีพและพัฒนาแรงงานรองรับอุตสาหกรรม ๔.๐ โดยการยกระดับผีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ (Super Worker) ใน ๑๐ กลุ่มอุตสาหกรรม ๒) การพัฒนาทักษะอาชีพทุกช่วงวัย โดยจัดให้มีระบบแนะแนวการศึกษาและอาชีพเพื่อให้นักเรียนนักศึกษาได้ทดสอบความถนัดทางอาชีพของตนเอง เตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงาน ๓) การยกระดับศักยภาพของแรงงาน โดยยกระดับรายได้ค่าแรงแรกเข้าและกลไกการปรับอัตราค่าจ้างที่สอดคล้องกับสมรรถนะแรงงาน  ๔) การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ ๒๑ เพื่อให้คนในองค์กรสามารถปรับตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ๕) การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน โดยมุ่งสู่ความเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่โปร่งใสตรวจสอบได้ การนำเทคโนโลยีมาบริการประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อราชการ เป็นต้น

ซึ่งคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาฯ ยังได้มีประเด็นข้อเสนอแนะการดำเนินการเฉพาะหน้า ประกอบด้วย ๑) ขอให้พิจารณาจัดตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพและทักษะสมาร์ทแรงงาน เพื่อการก้าวผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ๒) พิจารณาการตั้งคณะกรรมแก้ปัญหาความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานการจ้างงาน ๓) การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านวิชาชีพ อาชีวะ เทคนิคระยะสั้น ๔) ควรมีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังผลกระทบที่เกิดจากดิสรัปทีฟเทคโนโลยี เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตาม แก้ปัญหา ดูแลแรงงานกลุ่มเสี่ยง รวมถึงการปรับทักษะแรงงาน ๕) กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพหลักในการวางแผนกำลังแรงงานของประเทศ ๖) พิจารณาจัดตั้งศูนย์เชื่อมโยงข้อมูลบิ๊กดาต้าแรงงานแห่งชาติ ๗) ขอให้พิจารณายกระดับสำนักงานเศรษฐกิจแรงงานของกระทรวงแรงงานเพื่อเป็นการวางบริบทการขับเคลื่อนแรงงานสู่เศรษฐกิจในอนาคต ๘) ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานให้ทันกับเทคโนโลยีและอาชีพใหม่ โดยมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษารูปแบบการจ้างงานของศตวรรษที่ ๒๑ ที่คนต้องทำงานร่วมกับหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีขั้นสูง

TOP