“ท่านวันชัย รุจนวงศ์” คณะกรรมการสภาที่ปรึกษาฯ ชุดที่ ๒๐ ผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตอธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ ประธานคณะทำงานฯ ประธานการประชุมคณะทำงาน เรื่อง “การส่งเสริมคนพ้นโทษให้เป็นกำลังแรงงานของชาติ” ครั้งที่ ๑/๒๕๖๗ (ครั้งที่ ๗) วันศุกร์ที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น ๕ อาคารกระทรวงแรงงาน
วาระที่ ๑ เรื่องที่ประธานแจ้งที่ประชุมทราบ
วาระที่ ๒ เรื่องรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๖ เมื่อวันอังคารที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖
ณ ห้องประชุมกองยุทธศาสตร์และแผนงาน ชั้น ๑๓ อาคารกระทรวงแรงงาน
วาระที่ ๓ เรื่องเพื่อทราบ จำนวน ๓ เรื่อง
๓.๑ เมื่อวันอังคารที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ คณะกรรมการสภาที่ปรึกษาฯ คณะทำงานฯ ได้เข้าพบหารือแนวทางข้อเสนอแนะจาก “ท่านเสกสม อัครพันธุ์” รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ณ ห้องประชุม ๑ อาคาร ๑ ชั้น ๓ กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
การหารือและรับฟังข้อเสนอแนะแนวทางการ “จัดทำข้อเสนอด้านการส่งเสริมคนพ้นโทษให้เป็นกำลังแรงงานของชาติ”ประเด็นกฎหมายลักษณะต้องห้ามในการประกอบอาชีพ (กฎหมายพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และกฎหมายพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒) ”
๓.๒ ความคืบหน้าการแก้ไขเพิ่มเติม กรณี “ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. ….” ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๒๐ (สมัยวิสามัญประจำปี ครั้งที่ ๒) วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ 2567 ผลปรากฏว่า ที่ประชุมสภาฯ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้ลงคะแนนเสียง มีมติเป็น เอกฉันท์ ๔๑๖ เสียง “รับหลักการ” ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. …. ทั้ง ๘ ร่าง ที่เสนอโดย (๑) คณะรัฐมนตรี (๒) นายอนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ (๓) นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ กับคณะ (๔) นายพิทักษ์เดช เดชเดโช กับคณะ (๕) นายคอซีย์ มามุ กับคณะ (๖) นายวรภพ วิริยะโรจน์ กับคณะ (๗) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กับคณะ (๙) นายวิชัย สุดสวาสดิ์ กับคณะ
๓.๓ ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ รายงานความคืบหน้าแนวทางและผลการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำ (CARE : Center for Assistance to Reintegration and Employment)
๓.๔ ผู้แทนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รายงานความคืบหน้าผลการพัฒนาทักษะผู้ต้องขังให้ตรงกับความต้องการในสาขาอาชีพ
๓.๕ ผู้แทนกรมการจัดหางาน รายงานความคืบหน้าผลการจัดหางาน การประชาสัมพันธ์ตำแหน่งงานที่ต้องการจ้าง และตำแหน่งงานที่ได้รับการบรรจุ ให้กับผู้พ้นโทษ
วาระที่ ๔ เรื่องเพื่อพิจารณา จำนวน ๔ เรื่อง ดังนี้
๔.๑ การจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ที่ประชุมสภาฯ มีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน ๓๗ คน เพื่อพิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. ….” และกำหนดระยะเวลาแปรญัตติ ๑๕ วัน โดยให้ถือเอาร่างพระราชบัญญัติของคณะรัฐมนตรีเป็นหลักในการพิจารณา
๔.๒ การจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ สรุปผลจากการเข้าพบและหารือกับผู้บริหารกรมการขนส่งทางบก ขอให้พิจารณาเงื่อนไขการพ้นโทษตามระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๕๐ ในกรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถ ตามมาตรา ๔๓ (๔) หรือ (๕) เป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๔๙ (๘) แต่พ้นโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า (๑) หกเดือนสำหรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาไม่เกินสามเดือน (๒) หนึ่งปีสำหรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาไม่เกินสามเดือนแต่คดีนั้นเกี่ยวด้วยการใช้รถกระทำความผิด หรือ (๓) หนึ่งปีหกเดือนสำหรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาเกินสามเดือน แต่ไม่เกินสามปี
พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ มีเงื่อนไขสำหรับการออกใบอนุญาตขับรถยนต์ ทั้งที่เป็นรถยนต์สาธารณะ และรถยนต์ส่วนบุคคล เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการมีงานทำของผู้พ้นโทษ จึงเสนอให้กรมการขนส่งพิจารณาฐานความผิด การพิจารณายกเลิกการกำหนดระยะเวลาพ้นโทษ เนื่องจากส่งผลกระทบกับแรงงานในภาคขนส่ง โลจิสติกส์ ซึ่งประมาณการว่ามีแรงงานหมุนเวียนในอุตสาหกรรมนี้ถึง ๑.๔๖ ล้านคน รวมถึงแรงงานนอกระบบที่ประกอบอาชีพอิสระอีกจำนวนมาก
๔.๓ การจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. ๒๔๗๔ ความคืบหน้าจากกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย อยู่ระหว่างจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติ จำนวน ๒ ฉบับ ซึ่งแยกมาจากพระราชบัญญัติขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยการขายทอดตลาด พ.ศ. … และพระราชบัญญัติ ธุรกิจค้าของเก่า พ.ศ. …
๔.๔ การจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๘ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ยืนยันกฎหมายกำหนดข้อห้ามไว้เฉพาะพนักงานรักษาความปลอดภัยที่เป็นพนักงานของบริษัทรักษาความปลอดภัย และกำหนดเพียงบางฐานความผิด พนักงานรักษาความปลอดภัย มีหน้าที่ช่วยเหลือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการจับกุมผู้กระทำความผิด ดังนั้นจึงเห็นว่ากฎหมายมีความเหมาะสมแล้ว
ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายวันชัย รุจนวงศ์ คณะกรรมการสภาที่ปรึกษาฯ ชุดที่ ๒๐ ผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตอธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ ประธานคณะทำงานฯ ประธานการประชุม คณะทำงานฯ จากฝ่ายรัฐบาล ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ ผู้แทนกรมการจัดหางาน ผู้แทนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ และนักวิชาการผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น ๑๘ คน
ผลจากการประชุม เห็นชอบการหารือส่วนราชการต่างกระทรวงเพื่อทบทวนแก้ไขกฎหมายลักษณะต้องห้ามในการประกอบอาชีพ หลังพ้นโทษ การส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านอาชีพระหว่างต้องโทษ การส่งเสริมการจัดหางานหลังพ้นโทษ
การประชุมในครั้งนี้ สามารถขับเคลื่อนให้ส่วนราชการที่มีกฎหมายลักษณะต้องห้ามในการประกอบอาชีพของผู้พ้นโทษ พิจารณาแก้ไขประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้ผู้พ้นโทษ ประมาณปีละ ไม่น้อยกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน เข้าถึงอาชีพ ผลักดันให้ภาครัฐบูรณาการความร่วมมือในการประสานงานการพัฒนาทักษะผู้ต้องขังให้ตรงกับความต้องการในสาขาอาชีพ การประชาสัมพันธ์ตำแหน่งงานที่ต้องการจ้าง และตำแหน่งงานที่ได้รับการบรรจุ เพื่อส่งเสริมการมีงานทำของผู้พ้นโทษต่อไป
——————————————
สำนักงานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ
๘ มีนาคม ๒๕๖๗